"พี่แขกโหดนะคะ"

"พี่แขกโหดนะคะ"

แต่น แตน แต๊นนนน…

ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเราได้รางวัลแปลอันดับ 3 จากคอร์สการแปลวรรณกรรมสอนโดยสุดยอดปรมาจารย์ในวงการแปลซึ่งก็คือ พี่แขก บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน

วันนี้อยากจะแบ่งปันเรื่องราวการเรียนวิชาแปลกับพี่แขกให้ผู้อ่านฟัง และว่าเรามาจับพลัดจับผลู ได้รางวัลแปลนี้ได้ยังไง(หว่า)  

รับรางวัลคู่กับพี่กบ และพี่แหม่ม

คอร์สการแปลวรรณกรรมเป็นหลักสูตร 15 ชั่วโมง จัดโดยสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ในคอร์ส พี่แขกได้หยิบยกเรื่องราวจากประสบการณ์การแปลเกือบ 60 ปีและผลงานกว่า 400 เรื่อง มาแบ่งปันให้เราฟัง ซึ่งตัวพี่แขกเองก็ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมาหลายชิ้น เช่น นักเขียนรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ และนักแปลรางวัลสุรินทราชา  

มาเรียนก็เพราะนิยายเรื่อง Roots นี่หละ

หน้าปกหนังสือ Roots โดย Alex Haley ฉบับภาษาอังกฤษ

ที่ตัดสินใจมาเรียนแปลกับพี่แขกตั้งแต่แรกก็เพราะเห็นว่า หนึ่งในงานวรรณกรรมที่พี่แขกแปลคือเรื่อง Roots (1976) ซึ่งประพันธ์โดย Alex Haley นี่หล่ะ เพราะเราเคยอ่านเรื่องนี้ตอนเรียนอยู่ที่อเมริกา เป็นเรื่องที่อ่านแล้วสะเทือนใจ เพราะ Alex Haley ผู้เขียนเป็นคนอเมริกันเชื้อชาติแอฟริกัน หรือที่เรียกง่ายๆว่าคนผิวสี ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษของเขาในชนเผ่าแอฟริกาที่โดนจับตัวมาขายเป็นทาสในอเมริกา ผู้เขียนบรรยายภาพความโหดร้ายของชีวิตทาสที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าทาสในสมัยปีคริสตศักราช 1800 ได้เป็นอย่างดี บอกตามตรงเลยว่า เป็นหนังสือที่เราอ่านไปได้เพียงช่วงต้นๆของเรื่อง แล้วจำเป็นต้องวาง เพราะมันเศร้าและหนักหน่วงจนเกินที่จะอ่านต่อได้  

แต่ทีนี้ เพียงมาเห็นในข้อมูลประชาสัมพันธ์คอร์สว่า พี่แขกเป็นผู้แปลเรื่อง Roots ก็รู้สึกประทับใจ เพราะเป็นวรรณกรรมน้ำเอกของอเมริกาที่นับว่าเป็นมหากาพย์อัตชีวประวัติที่พาดผ่านเรื่องราวของครอบครัวทาสมากกว่า 3 รุ่น เป็นงานเขียนที่ผู้จะมาแปลจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ความรุ่งเรืองของการค้าทาส (Slave Trade) ภาวะเก็บภาษีสูงลิ่วโดยเครือจักรภพในสมัยนั้น สงครามกลางเมือง และการปลดแอกทาส เพียงได้เห็นว่าพี่แขกเป็นผู้แปลเรื่อง Roots เราก็ตัดสินใจลงเรียนคอร์สนี้ทันที  

“นักแปลคือผู้มีวรรณศิลป์ เป็นผู้ที่รู้จักจะเอาอีกภาษาหนึ่งมาใช้ในภาษาเราได้อย่างสละสลวย”

พี่แขก-บุญญรัตน์ บุญญาธิษฐาน

เรากับพี่แขกในวันแรกๆที่มาเรียน

เมื่อได้มาเรียน สิ่งที่เราประทับใจที่สุดคือความทุ่มเทและจิตวิญญาณการเป็นนักแปลของพี่แขก ในงานทุกชิ้นที่พี่แขกแปล พี่แขกสอนพวกเราว่า เราควรทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นๆอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจบริบทของงานชิ้นนั้น​ กรอบประเพณีในยุคที่นักประพันธ์นั้นมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงเจตนาและสไตล์ภาษาของผู้เขียน  

พวกเราคงเป็นญาติกันมาแต่ชาติปางก่อน

​เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกรักคลาสนี้มากๆ พี่ๆทุกคนมาจากอาชีพการงานที่หลากหลาย ทั้งนักกฎหมาย อาจารย์สอนภาษา นักสังคมสงเคราะห์ วิศวกร บรรณาธิการ และผู้จัดการโรงงาน ทุกคนต่างมาเรียนกันด้วยความสดใสยิ้มแย้ม น่าแปลกใจที่พวกเราเจอกันแค่ 2 วัน แต่รู้สึกสนิทกันเหมือนรู้จักกันมานานมาก

สิ่งที่ทำให้พวกเราคุยกันสนุกถูกคอคงเป็นจากความรักการอ่านของทุกคน ตอนที่พี่แขกสอน ทุกคนนั่งตั้งใจฟังจดยิบ แถมยังจดโพยหนังสือน่าอ่านทั้งหลายที่พี่แขกแนะนำ เห็นได้ชัดว่าทุกคนมีความซาบซึ้งในรสการอ่านวรรณกรรม และอยากพัฒนาทักษะของตัวเอง ด้วยความสนใจที่ตรงกัน ทำให้พี่แขกพูดแซวหลายรอบเลยทีเดียว

“พวกคุณคงเป็นญาติกันมาแต่ชาติก่อน ถึงได้สนิทกันเร็วขนาดนี้”

พี่แขก-บุญญรัตน์ บุญญาธิษฐาน

การบ้านหฤโหด 3 ชิ้นที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

ที่เด็ดกว่านั้นคือ พี่แขกให้การบ้านกับพวกเราทุกคนในชั้น เป็นการแปลบทกวี 3 อัน โดยส่วนตัวแล้ว เราเองไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะแปลบทกวีได้เลย เพราะเราเรียนปริญญาตรีที่อเมริกามา ทำให้ห่างหายจากการอ่านหนังสือที่เป็นภาษาไทยไปถึง 4 ปี นอกจากนี้ หนังสือภาษาไทยที่ได้อ่านส่วนมากก็เป็นร้อยแก้ว แม้กระทั่งการอ่านงานเขียนของสุนทรภู่ เราก็อ่านเป็นร้อยแก้ว ไม่เคยได้อ่านกลอนจริงจังสักที พอเห็นการบ้านที่พี่แขกให้ในวันแรก ก็ถึงกับเกาหัว อ้าปากค้าง ไปไม่ถูก เพราะเกิดมา ไม่เคยแปลกลอนมาก่อน

บทแปลที่พี่แขกเลือกมา 3 เรื่อง ก็มีความหลากหลาย เรื่องแรกคือ บทโศลกไว้อาลัยของชาวอินเดียนแดงแด่สมาชิกผู้วายชนม์ เรื่องที่สองคือ บทกวีที่ยกมาจากเรื่อง The Shooting of Dan McGrew โดย Robert Service และเรื่องสุดท้ายคือบทกวีแด่พ่อแม่ที่เพิ่งเสียลูกไป โดย Edgar Guest

“พี่แขกโหดนะคะ ขอให้น้องๆทุกคนโชคดีกับการบ้านสุดหฤโหดนี้ค่ะ”

พี่แขก-บุญญรัตน์ บุญญาธิษฐาน

การแปลการบ้านชิ้นนี้จึงจำเป็นต้องไปรื้อฟื้นความจำเกี่ยวกับการแต่งกลอนแปดที่เรียนมาตั้งแต่สมัยประถม ว่าต้องใช้เสียงอะไร ใช้กี่พยางค์ เขียนสัมผัสนอกและสัมผัสในอย่างไร เป็นต้น

การแปลกลอนไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยหลายเหตุผล อย่างแรกคือ บทกลอนมีเนื้อที่จำกัด เราพยายามแปลวรรคต่อวรรค และให้เนื้อความจบให้ได้ภายในความยาวเท่ากับบทกลอนต้นฉบับ เพื่อคงไว้ซึ่งเจตนาของผู้แต่งที่อาจจะอยากให้กลอนยาวร่ายไป หรือสั้นๆได้ใจความ ​นอกจากนี้ การจะหาคำที่ไพเราะมาใส่ในแต่ละวรรค แล้วให้สัมผัสกันถูกต้องตามกฎการแต่งกลอนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยจำเป็นต้องนั่งหาคำไวพจน์ของแต่ละคำมา เพื่อจะได้มีคลังศัพท์ที่หลากหลาย สามารถหยิบมาใช้ได้ในที่ที่ลงตัว เช่น คำไวพจน์ของภูเขาคือ ภูผา คีรี หุบหิน เป็นต้น

อีกหนึ่งข้อจำกัดส่วนตัวคือ เรานั่งแปลบทกลอนนี้ระหว่างเดินทางไปเที่ยว การบ้านจำเป็นต้องส่งในช่วงที่เราเดินทางไปเที่ยวจังหวัดจันทบุรีพอดี ซึ่งพอมองย้อนกลับไป นับว่าเป็นทริปที่คุ้มสุดๆ เพราะช่วงระหว่างวัน เป็นการขับรถเที่ยวชมจันทบุรี แวะน้ำตก กินอาหารทะเล แวะซื้อผลไม้ และเดินตลาดเพชรพลอย ส่วนช่วงตกค่ำนั้นประมาณ 2 ทุ่มที่กลับมาถึงโรงแรม เราก็รีบอาบน้ำให้สดชื่น เพื่อมานั่งแปลกลอนนั่นเอง

เบื้องหลังการแต่งกลอน มีคุณแฟนมานั่งเป็นเพื่อน คุณแฟนนั่งเล่นเกมในมือถือพร้อมนำไวน์ที่เตรียมไว้จากกรุงเทพฯมาคอยรินให้เพื่อเป็นกำลังใจ ระหว่างที่เล่นเกมไป ก็ต้องคอยนั่งตอบคำถามเรา เพราะการแต่งกลอนนั้น บทกลอนมีถ้อยคำและความหมายที่ต้องตีความเยอะมาก ถ้านั่งแต่งคนเดียวอาจจะต้องนั่งพูดกับตัวเองเป็นคนบ้า แต่พอมีคุณแฟนมานั่งเป็นเพื่อน เราเลยมีคนคุยด้วย ถามตอบกันไปมา  

ตัวอย่างบทสนทนา

เรา: “ไอ้คำว่า a stark, dead world นี่จะแปลว่ายังไงดีอะ”
คุณแฟน: “แปลว่าโลกเงียบแน่ๆ เธอเชื่อเรา”

หลังจากการยิงคำถามของเรา เราทั้งสองก็ต้องมานั่งถกกันว่า ความหมายของคำว่า stark คืออะไร ซึ่งมันแปลว่า  สิ้นเชิง และก็ถกกันต่อว่า ทำไมผู้เขียนจึงไม่ได้ใช้คำว่า dead world อย่างเดียว แต่ถึงใส่ stark เข้ามาด้วย นั่นก็เพื่อเน้นย้ำความหมายว่าทุกอย่างในป่าเขามันเงียบสงัดเหมือนความตาย ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆในบริเวณนั้นเลย นอกจากเสียงเห่าหอนของหมาป่า มีเพียงตัวเอกของบทกลอนเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่

ต้องขอบคุณคุณแฟนด้วยค่ะ

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ การบ้านแต่งกลอนนี่ถือว่าได้ความรู้และเพิ่มทักษะมากๆ เพราะการแปลกลอนเป็นการวัดว่าเราสามารถใช้คำที่ตรงความหมายได้อย่างกระชับและไพเราะหรือไม่ เป็นการวัดสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ซีกซ้ายคือต้องกระชับ พอดีพยางค์​ และถูกต้องตามกฎของการแต่งกลอน ซีกขวาคือไพเราะ อ่านแล้วรื่นหู และตรงตามเจตนารมณ์ของผู้แต่งนั่นเอง ​

บททิ้งท้าย

และแล้ว วันสุดท้ายของคลาสก็มาถึง เป็นการประกาศรางวัลผู้ชนะการแต่งกลอน โดยพี่แขกเตรียมของรางวัลมาจากด้วย รางวัลที่ 1 เป็นหนังสือวรรณกรรมแปลชุด Roots ประพันธ์โดย Alex Haley หนังสือเซ็ทสวยมาก น่าเก็บไว้อ่าน ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 เป็นหนังสือ Tortilla Flat เขียนโดย John Steinbeck ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มนี้นับเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยม และเป็นฉบับแปลโดยพี่แขกอีกด้วย

หนังสือที่ระลึกจากคลาสแปล

ผลสุดท้ายคือ เราได้รางวัลที่ 3 จ้า ความรู้สึกตอนแรกคือ งงและแปลกใจมาก เพราะเราไม่คิดเลยว่าเราจะทำได้ เราก็แค่ทำให้ดีที่สุดของเราเท่านั้น ตอนนี้รู้สึกซาบซึ้งและดีใจมาก ไม่คิดว่าจะทำได้  

หากใครอยากอ่านที่เราแปล พร้อมทั้งต้นฉบับ คลิกที่นี่เลย 

การมาเรียนแปลครั้งนี้ เราได้มากกว่าแค่เทคนิคการแปล จากคนหลงทางที่ไม่รู้จะเริ่มหนทางนักแปลอย่างไร พี่แขกบอกเราและพี่ๆทุกคนในคลาสให้เริ่มทำทันที เริ่มต้นแค่หยิบเอาหนังสือหรือบทความที่ตัวเองชอบมาแปลเลย ไม่ต้องรอใคร

“ถ้าคนอื่นแปลได้ เราก็ต้องแปลได้”

พี่แขก-บุญญรัตน์ บุญญาธิษฐาน

 ดีใจที่ได้มาเริ่มเรียนคลาสนี้ และก็ตั้งใจจะลงงานแปลเพื่อมาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกคนอีก ไว้ติดตามกันนะคะ

แปลบทกวี การบ้านคลาสแปลกับพี่แขก

แปลบทกวี การบ้านคลาสแปลกับพี่แขก