“แล้วก็... เอ่อ...” (แปลเรื่องสั้น โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง')
หนังสือเล่มโปรดของอลิสคือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสหยิบหนังสือมหัศจรรย์เล่มนี้ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เสน่ห์ของหนังสือคือ เป็นเรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่องที่ร้อยเรียงเกี่ยวกับวัยเด็กของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ที่เรียนโรงเรียนโทโมเอะอันสุดแสนจะวิเศษ โรงเรียนซึ่งเด็ก ๆ ได้รับการสนับสนุนให้เล่นอย่างเต็มที่ โรงเรียนที่อ้าแขนรับความแตกต่างอันงดงามของเด็ก เติมเต็มด้วยความรักของคุณครูใหญ่ โซซากุ โคบายาชิ และภรรยา
เรื่องสั้นตอนที่คัดมาแปลนี้ เป็นตอนที่อลิสประทับใจมาก ในฐานะของครูที่สอนการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) เรื่องเกิดขึ้นเมื่อครูใหญ่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพูดในที่สาธารณะ จึงได้ขอให้เด็กนักเรียนโทโมเอะ ขึ้นกล่าวสั้น ๆ ระหว่างช่วงพักกลางวัน จะเกิดอะไรขึ้นกัน มาลองอ่านดูค่ะ
หนังสือต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น อลิสแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่โดโรธี บริตตันเป็นผู้แปลต่อมาอีกทีหนึ่งค่ะ
ที่มา Totto-chan: The Little Girl at the Window (“And then… Uh…”)
“แล้วก็... เอ่อ...”
มื้อกลางวันที่โทโมเอะมักมีเรื่องสนุกเสมอ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีเรื่องน่าสนใจใหม่เกิดขึ้น
ครูใหญ่ยังคงตรวจตราดูกล่องข้าวกลางวันของนักเรียนทั้งห้าสิบคน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมี “ของจากทะเลและของจากภูเขา” – ภรรยาครูใหญ่เดินถือกระทะตามสองใบ พร้อมเติมสิ่งที่ขาดหายจากกล่องข้าวกลางวันของเด็ก ๆ – หลังจากนั้น ทุกคนจะร้องเพลง “เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยวให้ละเอียด ทุกอย่างที่เรากิน” ตามด้วย “ทานแล้วนะคะ/ครับ” แต่นับจากนี้เป็นต้นไป หลังจากกล่าว “ทานแล้วนะคะ/ครับ” จะต้องมีคนขึ้นไปกล่าวอะไรเล็กน้อย
วันหนึ่ง ครูใหญ่กล่าวว่า “พวกเราทุกคนควรฝึกพูดให้เก่งขึ้น ทุกคนเห็นด้วยไหม ต่อจากนี้ไป ตอนเราทานมื้อกลางวัน ครูขอให้นักเรียนหนึ่งคนขึ้นมายืนพูดตรงกลางวงกลม เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้ คิดว่าอย่างไรกัน”
เด็กบางคนคิดว่าตนพูดไม่เก่ง แต่ถ้าได้ฟังคนอื่นพูดก็คงสนุก ส่วนบางคนคิดว่า แจ๋วไปเลยที่จะได้พูดเรื่องที่ตนรู้ โต๊ะโตะจังยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากพูดเรื่องอะไร แต่ก็พร้อมลองดูสักตั้ง เด็กส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ทุกคนจึงตัดสินใจว่าจะเริ่มการพูดในวันถัดไป
เด็กญี่ปุ่นมักถูกสอนที่บ้านว่าห้ามพูดระหว่างมื้ออาหาร แต่เพราะครูใหญ่เคยมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ครูใหญ่จึงสนับสนุนให้นักเรียนทานข้าวแบบสบาย ๆ พร้อมพูดคุยให้เพลิดเพลิน
นอกจากนั้น ครูใหญ่เห็นว่า การยืนขึ้นพูดต่อหน้าผู้คนโดยไม่เขินอายถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึก ครูใหญ่จึงตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ครูจะนำทฤษฎีนี้มาลงมือปฏิบัติจริง
หลังจากที่เด็ก ๆ ตกลงแล้ว ครูใหญ่ก็บอกตามนี้ โต๊ะโตะจังตั้งหน้าตั้งตาฟัง
“นักเรียนไม่ต้องห่วงว่าจะต้องพูดให้เก่ง” ครูใหญ่กล่าว “นักเรียนจะพูดเรื่องอะไรที่อยากพูดก็ได้ จะพูดเรื่องสิ่งที่ชอบทำก็ได้ อะไรก็ได้เลย จะอย่างไรก็ได้ มาลองกันสักตั้งดู”
มีการจัดลำดับผู้พูด และใครก็ตามที่จะต้องขึ้นกล่าวในวันนั้นจะต้องรีบทานมื้อกลางวันให้เสร็จก่อนที่เพลงจะร้องจบ
ไม่นาน เด็ก ๆ ก็พบว่า การขึ้นไปพูดต่อหน้าทั้งโรงเรียนนั้น ยากกว่าการพูดกับเพื่อนแค่สองสามคนตอนกินข้าวกลางวันมากโข แถมต้องใช้ความกล้ามหาศาล เด็กบางคนอายเสียจนได้แต่ยืนขำคิกคัก เด็กผู้ชายคนหนึ่งตั้งอกตั้งใจเตรียมเรื่องมาพูด แต่เมื่อยืนขึ้นจะพูดแล้ว กลับลืมเนื้อหาที่เตรียมมาเสียหมด เขาพูดย้ำหัวข้อเรื่องที่ฟังดูแสนจะน่าสนใจซ้ำไปซ้ำมา “ทำไมกบถึงกระโดดข้าง” ก่อนเริ่มพูดว่า “เวลาฝนตก...” แต่ก็ไปต่อไม่ได้ สุดท้ายแล้ว เขาพูดว่า “เท่านี้แหละครับ” โค้งคำนับ ก่อนกลับไปนั่งที่ของตัวเอง
ถึงแม้จะยังไม่ถึงตาของโต๊ะโตะจัง แต่เธอตัดสินใจว่า เมื่อถึงตาเธอ เธอจะเล่าเรื่องโปรด “เจ้าชายและเจ้าหญิง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักดี เมื่อไรก็ตามที่เธออยากจะเล่าเรื่องนี้ช่วงพักระหว่างคาบ เด็กคนอื่นมักจะพูดว่า “เราฟังจนเบื่อแล้วน่า” แม้กระนั้น เธอตัดสินใจว่า เรื่องที่เธอจะขึ้นไปเล่าต้องเป็นเรื่องนี้เท่านั้น
แผนการใหม่กำลังไปได้สวย จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อถึงตาเด็กคนหนึ่งขึ้นพูด เขายืนกรานปฏิเสธที่จะขึ้นไป
“ผมไม่มีอะไรจะพูด” เขายืนยัน
โต๊ะโตะจังประหลาดใจที่คนเราจะไม่มีเรื่องพูดเสียได้ แต่เด็กชายคนนั้นไม่มีจริง ๆ ครูใหญ่เดินไปหาเด็กชายที่โต๊ะซึ่งมีกล่องข้าวว่างเปล่าวางอยู่
“หนูไม่มีเรื่องจะพูดอย่างนั้นหรือ” ครูใหญ่ถาม
“ไม่มีครับ”
เด็กชายไม่ได้ตั้งใจทำตัวหัวใสเสียอย่างใด เขาแค่คิดไม่ออกจริง ๆ ว่าจะพูดเรื่องอะไร
ครูใหญ่หัวเราะลั่น ไม่สนใจฟันห่าง ๆ ของตน
“งั้นมาหาเรื่องพูดให้หนูดีกว่า”
“หาเรื่องให้ผมพูดหรือครับ” เด็กชายถามอย่างงุนงง
ครูใหญ่ให้เด็กชายมายืนตรงกลางของวงแหวน ส่วนตัวครูเองนั่งลงที่โต๊ะของเด็กชาย
“ลองนึกสิ” ครูใหญ่กล่าว “ว่าเมื่อเช้าหนูทำอะไรหลังตื่นนอน และก่อนมาโรงเรียน หนูทำอะไรอย่างแรก”
“ก็...” เด็กชายพูดพร้อมเกาหัว
“เยี่ยม” ครูใหญ่พูด “หนูพูด ‘ก็’ แล้ว แสดงว่ามีเรื่องพูดนี่ หลังจาก ‘ก็’ แล้วหนูทำอะไรต่อ”
“ก็... เอ่อ... ผมลุกจากที่นอน” เขากล่าวพร้อมเกาหัวอีก
โต๊ะโตะจังและคนอื่น ๆ นึกขำ แต่ยังคงตั้งใจฟังต่อ เด็กชายพูดต่อ
“แล้ว... เอ่อ...” เขาเกาหัวอีกครั้ง ครูใหญ่นั่งดูเด็กชายอย่างใจเย็น พร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า มือประสานวางบนโต๊ะ
“ยอดเยี่ยม เท่านั้นละ หนูตื่นตอนเช้า หนูพูดให้ทุกคนเข้าใจแล้ว ผู้พูดที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนตลกที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น ประเด็นสำคัญคือ หนูบอกว่า หนูไม่มีอะไรจะพูดในตอนแรก แต่ก็หาเรื่องมาพูดจนได้”
แต่เด็กชายยังไม่นั่งลง เขาพูดขึ้นด้วยเสียงดังว่า “แล้วก็... เอ่อ...”
เด็ก ๆ ทุกคนนั่งตัวตรงตั้งใจฟัง เด็กชายสูดหายใจเข้าเฮือกใหญ่ แล้วพูดต่อไป “แล้วก็... เอ่อ... แม่... เอ่อ... บอกว่า ‘แปรงฟันซะ’ เอ่อ... ผมเลยแปรงฟัน”
ครูใหญ่ปรบมือ ทุกคนปรบมือด้วย เมื่อนั้น เด็กชายก็พูดต่อด้วยเสียงที่ดังขึ้นไปอีกว่า “แล้วก็... เอ่อ...”
เด็ก ๆ หยุดปรบมือและตั้งใจฟังกันต่อจนแทบจะลืมหายใจ
ในที่สุด เด็กชายกล่าวอย่างมีชัยชนะว่า “แล้วก็... เอ่อ... ผมก็มาโรงเรียน”
นักเรียนชายชั้นโตคนหนึ่งโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อตั้งใจฟังเสียจนทรงตัวไม่อยู่ เขาหน้าคะมำลงกล่องข้าวกลางวัน แต่ทุกคนอิ่มเอมใจที่เด็กชายหาเรื่องพูดเจอจนได้
ครูใหญ่ปรบไม้ปรบมือ โต๊ะโตะจังและคนอื่นก็ด้วย แม้แต่ “แล้วก็... เอ่อ...” ซึ่งยังคงยืนอยู่ตรงกลางก็พลอยปรบมือไปกับเขาด้วย หอประชุมดังกึกก้องไปด้วยเสียงปรบมือ
แม้ว่าวันนี้เด็กชายจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาคงไม่มีวันลืมเสียงปรบมือนี้เป็นแน่
เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นนี้จบแล้ว อลิสเห็นภาพทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยสอน Public Speaking ให้กับเด็ก คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นนี้เป็นอย่างมาก เมื่อเด็กเกิดอาการประหม่าจากการพูด ก็จะหลุดขำ ยุกยิก เล่นกับเสื้อผ้าหน้าผม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกอาย ความกลัว และความกังวล
อลิสเองประทับใจกับการรับมือของครูใหญ่เป็นอย่างมาก เมื่อเด็กชายบอกว่าไม่มีเรื่องอะไรจะพูด ครูใหญ่ก็ค่อย ๆ ซักถามและให้กำลังใจอย่างใจเย็น จนเด็กชายค่อย ๆ พูดเรื่องราวออกมาได้ในที่สุด แม้จะเป็นเรื่องกระท่อนกระแท่น แต่ครูใหญ่ไม่ได้คาดหวังจากเด็กชายจนมากเกินไป ในทางตรงกันข้าม ครูใหญ่มองพัฒนาการของเด็ก จากเด็กที่ไม่รู้จะพูดอะไร ก็หาเรื่องพูดเสียจนได้ นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของวันนั้น และครูใหญ่ก็ชื่นชมพัฒนาการตรงนี้ของเด็กชายให้ต่อหน้าเขาและเพื่อน ๆ อลิสแน่ใจว่า หัวใจของเด็กชายต้องพองโตและสร้างความรู้สึกมั่นใจเชิงบวกต่อการพูดในที่สาธารณะอย่างมาก
ครูใหญ่ยังเป็นต้นแบบที่ดีให้กับนักเรียนโทโมเอะ แม้แต่การปรบมือและการตั้งใจฟังอย่างเคารพ เด็ก ๆ โรงเรียนโทโมเอะก็ทำตามครูใหญ่เป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเติบโต
อลิสนับถือใจครูใหญ่โซซากุ โคบายาชิจริง ๆ ค่ะ